ข่าวและกิจกรรม
ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยีการสำรวจ
วันที่ 16-19 ธันวาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมกับสถาบันสมุทรศาสตร์ที่ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยีการสำรวจ" โดยมีผู้เข้าร่วมจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และผู้เชี่ยวชาญจาก First Institute of Oceanography, Ocean University of China และ Shanghai Jiao Tong University ร่วมในการบรรยาย ถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะในระหว่างการฝึกอบรม นอกจากนี้ ได้มีการฝึกปฏิบัติการเตรียมเครื่องมือสำรวจทางสมุทรศาสตร์ในทะเลลึก เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในงานสำรวจทางทะเล โดยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ จะได้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาวิจัยทางทะเลของประเทศไทย ต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล วางทุ่นสำรวจทางสมุทรศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยาในทะเลอันดามัน
วันที่ 7-10 ธันวาคม 2567 ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ร่วมกับสถาบันสมุทรศาสตร์ที่ 1 สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการปฏิบัติงานทางทะเล โดยเรือสำรวจวิจัยจักรทอง ทองใหญ่ เพื่อวางทุ่นสำรวจทางสมุทรศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยาในทะเลอันดามัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยาในทะเล และติดตามคลื่นใต้น้ำในฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยงานสำรวจวิจัยนี้ดำเนินการภายใต้โครงการ Monsoon Onset Monitoring and Its Social and Ecosystem Impact (MOMSEI) พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติกในน้ำทะเล และสำรวจขยะทะเลนอกฝั่ง และในระหว่างปฏิบัติงาน พบโลมาจำนวน 3 ฝูง บริเวณทางใต้ของหมู่เกาะสิมิลัน ห่างประมาณ 30 ไมล์ทะเล โดยเป็นโลมาปากขวด โลมากระโดด และไม่ทราบชนิด
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล ร่วมดำเนินการสำรวจสภาวะพร่องออกซิเจนในน้ำทะเล บริเวณอ่าวไทยตอนใน
วันที่ 25 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ร่วมกับนักวิจัยจาก First Institute of Oceanography (FIO), ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินคร์ วิทยาเขตภูเก็ต ดำเนินการศึกษาวิจัยสภาวะพร่องออกซิเจนในน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในน้ำทะเลและดินตะกอนพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทย-จีน ฯ และโครงการศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการสูญเสียออกซิเจนละลายในน้ำทะเลชายฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนโปรแกรม Coastal-SOS ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติเพื่อการเข้าสู่ศตวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564-2573 งบประมาณจาก สกสว. โดยตรวจวัดปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ เก็บตะกอนดิน สัตว์หน้าดิน ตัวอย่างน้ำทะเล และแพลงก์ตอนพืช รวมจำนวน 62 สถานี จากการสำรวจพบปัจจัยคุณภาพน้ำทะเลพื้นฐาน โดยรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ฯ (กรมควบคุมมลพิษ, 2564) โดยตัวอย่างที่ได้จะนำไปวิเคราะห์ และประมวลผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ฯ จัดกิจกรรมอบรม COMMUNITY SERVICES OF MANGROVENSERVATION PROGRAM : MANGROVE CULTIVATION TRAINING
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน โดยส่วนประสานความร่วมมือและนวัตกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับนักเรียนและชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ จังหวัดพังงา จำนวน 60 ราย ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2567 โดยกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ กิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมเก็บขยะ กิจกรรมสำรวจชุมชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน มีจิตสำนึกที่ดี และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และส่งเสริมให้ชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน นับเป็นก้าวแรกในการประสานความร่วมมือไทย-จีน ในงานด้านส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ฯ สนับสนุนงบจัดกิจกรรมโครงการจัดกิจกรรมจิตอาสาทางทะเล (Blue Citizen) เพื่อเฉลิมฉลองวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) และการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)
วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก โดยการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศทางทะเล ได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาด โครงการจัดกิจกรรมจิตอาสาทางทะเล (Blue Citizen) เพื่อเฉลิมฉลองวันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) และการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ณ หาดบานชื่น ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยมี นายสุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูดเป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 200 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด เจ้าหน้าที่ศูนย์จัดการพื้นที่คุ้มครองหมู่เกาะมัน จังหวัดระยอง ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดตราด มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วงโสม ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดตราด สถานีตำรวจภูธรไม้รูด หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด เครือข่ายภาคประชาชน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านไม้รูด โรงเรียนบ้านคลองมะนาว โรงเรียนบ้านหนองม่วง และโรงเรียนวัดห้วงโสม ขยะที่เก็บได้ทั้งหมด 310 กิโลกรัม และได้สอนวิธีการคัดแยกขยะ ชั่งน้ำหนัก และจดบันทึกข้อมูลตามแบบฟอร์ม ICC card โดยชนิดขยะที่พบมากบริเวณหาดบานชื่น ได้แก่ เศษถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก เศษโฟม และขวดแก้ว นอกจากนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนในพื้นที่ตระหนักถึงผลกระทบของขยะทะเล และทิ้งขยะให้ถูกที่ รวมทั้งคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะที่จะออกสู่ทะเลต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ในการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicel; UAV) ในการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระหว่างวันที่ 29 - 31 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุรพงษ์ บรรจงมณี นักวิชาการประมงชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมฯ ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. วีระพงศ์ เกิดสิน คณบดีฯ และเจ้าหน้าที่ คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นวิทยากรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ฯ ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาศักยภาพ การใช้อากาศยานไร้คนขับในการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศทางทะเล สำรวจสภาวะพร่องออกซิเจนในน้ำ และเก็บข้อมูลปัจจัยทางสมุทรศาสตร์เคมีธรณีครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยตอนใน
วันที่ 14-21 พฤศจิกายน 2565 ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศทางทะเล ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ออกสำรวจสภาวะพร่องออกซิเจนในน้ำ และเก็บข้อมูลปัจจัยทางสมุทรศาสตร์เคมีธรณีครอบคลุมพื้นที่อ่าวไทยตอนใน จำนวน 57 สถานี ภายใต้งบประมาณโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ด้านทะเล โดยเรือสำรวจเกษตรศาสตร์ 1 ของคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อศึกษาการเกิดสภาวะพร่องออกซิเจนในน้ำทะเลพื้นที่อ่าวไทยตอนใน สำหรับเป็นข้อมูลในการติดตามเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การสำรวจระบบนิเวศทางทะเลและขอบเขตแนวปะการัง ด้วยเครื่องสำรวจสภาพพื้นทะเล (Side scan sonar) บริเวณกองหินใต้น้ำ ที่หินเพลิง จังหวัดระยอง
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล โดยโครงการวิจัยเรื่อง “Tropical Marine Ecosystem Collaborative Study (TiME)” โครงการวิจัยย่อย “Coral reef mapping and bleaching” ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ทดสอบเครื่องสำรวจ สภาพพื้นทะเล (Side scan sonar) เพื่อสำรวจระบบนิเวศทางทะเลและขอบเขตแนวปะการัง บริเวณกองหิน ใต้น้ำ ที่หินเพลิง จังหวัดระยอง ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 - 22 มกราคม 2565 โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศูนย์วิจัยฯ ต่าง ๆ ภายใต้สังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าร่วมสังเกตการณ